ศูนย์เรียนรู้ตามแนวทาง ศาสตร์พระราชา (โคก หนอง นา โมเดล)
ชื่อเกษตรกรเจ้าขององค์ความรู้ นายสุชาติ เสน่หา
ที่อยู่ 47 หมู่ 4 ตำบลคลองเขื่อน อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา
โทรศัพท์ 081 590 4909
ความเป็นมา
นายสุชาติ เสน่หา เป็นชาวอำเภอคลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทราโดยกำเนิด มีความผูกพันกับวิถีเกษตรมาตั้งแต่เด็กเพราะครอบครัวประกอบอาชีพการเกษตร จึงรักและสนใจในด้านนี้ มีจิตสาธารณะช่วยเหลือผู้อื่น และหน่วยงานต่างๆ เสมอต้นเสมอปลาย ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และกำนัน จนทำผลงานดีเด่นได้รับ รางวัล กำนันแหนบทองคำ ในปี 2550 เมื่ออายุ 37 ปี ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้นำชุมชน ได้ศึกษาเพิ่มเติมจนจบปริญญาตรี สาขา พัฒนาชุมชน ระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลคลองเขื่อน ซึ่งในอำเภอคลองเขื่อน มีภาวะ น้ำท่วม ฝนแล้ง และน้ำทะเลหนุนเป็นประจำ จึงได้เกิดความคิดที่จะแก้ปัญหา ในพื้นที่โดยใช้ศาสตร์ของพระราชา ผ่านแนวคิด ของ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล มาเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้ชาวบ้านได้มาศึกษา นำไปปรับใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง บริหารงานโดย คณะกรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลคลองเขื่อน
องค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ และงานที่ภาคภูมิใจ
ด้วยความสนใจในแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเริ่มจากการปรับปรุงพื้นที่ของตังเองจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำนาอย่างเดียว มาเป็นปลูกพืชเชิงซ้อน ปลูกหลายๆชนิดหลากหลาย เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงกบ ปลูกตะไคร้ กล้วย มันเทศญี่ปุ่น ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากฟางข้าว ผลิตน้ำหมักชีวภาพผสมสารซิลิกาทำให้พืชแข็งแรงลดการใช้สารเคมี ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ จากเดิมปลูกข้าวแข็งอย่างเดียวแล้วขาย ซื้อข้าวหอมมะลิกิน ตอนนี้แบ่งที่นาส่วนหนึ่งปลูกข้าวไว้กินเอง ทำให้เกิดความยั่งยืน จึงอยากให้เกษตรกรรายอื่นๆที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวโดยปลูกข้างแข็งอย่างเดียวแล้วต้องไปซื้อข้าวหอมมะลิ หันมาทำการเกษตรเชิงซ้อน แบ่งพื้นที่ปลูกข้าวไว้กินเองบ้าง ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์หลายๆอย่าง จึงได้เกิดแนวคิดทำศูนย์เรียนรู้ขึ้นมาโดยใช้ศาสตร์พระราชาทั้งหมด บรรจุไว้ในศูนย์แห่งนี้ ปรับพื้นที่ขนาด 1 ไร่ 3 งาน ใช้รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล โดยมีโคก สูงๆ ปลูก ป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง มีฝายชะลอน้ำจำลอง เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรเนื่องจากในพื้นที่เกิดน้ำท่วมบ่อยต้นไม้ พันธุ์ไม้ต่างๆบนโคกแห่งนี้ก็จะรอด หนอง ก็ขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำ และเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงเป็ด จึงมีน้ำไว้ใช้ตลอดปี นาข้าว ได้ปลูกข้าวเพื่อไว้บริโภคเองปลอดสารพิษ ในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้จะมีจุดเรียนรู้ต่างๆ เช่น จุดสาธิตทำปุ๋ยอินทรีย์ เตาเผาถ่านทำน้ำส้มควันไม้
สรุปองค์ความรู้ที่ใช้
การผลิต
ปรับเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยว ข้าวแข็งอย่างเดียวแล้วต้องไปซื้อข้าวคนอื่นกินเป็นการทำเกษตรเชิงซ้อน ปลูกหลายๆอย่างและปลูกข้าวไว้กินเองและแปรรูปจำหน่าย เช่นข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล ข้าวมะลิแดง ลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเอง ใช้น้ำหมักชีวภาพผสมสารซิลิกาซึ่งรวมกลุ่มกันผลิต แดใส่นาข้าวทำให้ต้นข้าวแข็งแกร่งทนทานต่อโรคและแมลงทำให้ไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลงและยาป้องกันโรคพืชเลย
การตลาด
เดิมปลูกข้าวแข็งแล้วขายให้โรงสีอย่างเดียวเปลี่ยนเป็นปลูกข้าวส่วนหนึ่งไว้แปรรูปจำหน่ายเองโดยรวมกลุ่มกันผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล ข้าวหอมปทุม นำไปสีแล้วบรรจุสุญญากาศ ทำบรรจุภัณฑ์สวยงามน่าซื้อ
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
อดทนเสียสละ มีจิตอาสา ตั้งใจพัฒนาท้องถิ่นบ้านเกิด – มีการวางแผน และทำงานเป็นทีม
แนวคิดในการทำงาน
“งานบางงานไม่ต้องเป็นพระเอกก็ได้ ขอให้ชุมชนสังคมได้ประโยชน์ก็พร้อมขับเคลื่อนอาสางานให้สำเร็จ”
หลักคิดในการประกอบอาชีพ
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชาเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ
ที่มาของข้อมูล ชื่อ นายณรงค์ ภัทรขวัญ ตำแหน่ง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา